ก.พ. คือ คณะกรรมการที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ (HR จากฝั่งรัฐบาล)
การสอบ ก.พ. จึงเป็นการสอบวัดความรู้เพื่อเข้าสมัครเข้าทำงาน โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ภาค ก การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป
ภาค ข การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และ
ภาค ค การสอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง
ซึ่งเมย์ได้มีโอกาสไปสอบก.พ. (ภาค ก.) มา จึงอยากนำข้อมูลมาแชร์ประสบการณ์สำหรับคนที่สนใจ
การสมัครสอบ ก.พ.
สามารถสมัครออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
สมัครเสร็จแล้ว ปริ้นท์เอกสารไปชำระเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคาร ค่าสมัครสอบ 100 บาท
ปริ้นท์บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบในวันที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด
วิธีการเตรียมตัว สอบ ก.พ.
เมย์เตรียมตัวโดยการลองทำข้อสอบย้อนหลังของปีที่ผ่านมา อย่างละ 1 รอบ
แบบทดสอบวิชาความสามารถทั่วไป และวิชาภาษาไทย
การแต่งกาย วันสอบกพ.
การแต่งกาย ห้ามเสื้อไม่มีแขน กางเกงขาสั้น (ยกเว้นเครื่องแบบ) และรองเท้าแตะ
นอกนั้นได้หมด นั่นหมายถึง ผู้หญิงใส่กางเกงยีนส์ไปสอบก็ได้ ใส่รองเท้าผ้าใบก็ได้ ใส่เสื้อยืด เสื้อโปโลก็ได้
สิ่งที่อนุญาตให้นำเข้าห้องสอบ
มีแค่บัตรประจำตัวสอบ (ปริ้นท์จากเว็บ) บัตรยืนยันตัว เช่น บัตรประชาชน ปากกา ดินสอ ยางลบ และกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก
ไม่อนุญาตให้นำกบเหลาดินสอเข้าห้องสอบ (ไม่รู้ว่าห้ามไส้ดินสอกดด้วยหรือเปล่า)
นาฬิกาข้อมือนำเข้าห้องสอบได้ แต่ต้องถอดและวางไว้ใต้เก้าอี้เช่นเดียวกับกระเป๋าสตางค์
ไม่อนุญาตให้นำโทรศัพท์ หรือกระเป๋าใดใด (นอกจากกระเป๋าสตางค์) เข้าห้องสอบ
อนุญาตให้เข้าห้องสอบก่อน 30 นาที
แนวข้อสอบภาค ก
มีทั้งหมด 2 ชุด
(1) ความสามารถทั่วไปและภาษาไทย จำนวน 60 ข้อ (2 ชั่วโมง)
(2) ภาษาอังกฤษ จำนวน 25 ข้อ (40 นาที)
อย่าลอกกัน เพราะข้อสอบคนละชุด สังเกตได้จากสีกระดาษคำตอบของคนที่นั่ง ซ้าย – ขวา – หน้า – หลัง จะได้คนละสีกับเรา
แนะนำวิธีเตรียมตัวสอบ
ข้อสอบตรรกะและอนุกรม นอกจากการบวกลบคูณหารแล้ว ฝึกทำโจทย์อนุกรม ตรรกะ ตัวแปร ซับเซต แล้วก็เทียบบัญญัติไตรยางค์ไปด้วย ในข้อสอบจะมีตัวอย่างโจทย์ให้ทำความเข้าใจก่อนลงมือทำจริง อย่าลืมทำความเข้าใจอีกครั้งก่อนลงมือทำข้อสอบ
ข้อสอบภาษาไทยส่วนใหญ่เป็นการอ่านจับใจความ การสรุปประเด็น แล้วก็ให้ประโยคสั้น-ยาวมาให้เราเรียงใหม่แล้วตอบว่า ประโยคไหนคือประโยคที่ 1 หรือ 2 หรือ 4 ประมาณนั้น
ข้อสอบภาษาอังกฤษ ฝึกอ่านบทความในชีวิตประจำวันเยอะ ๆ เริ่มจากง่าย ๆ จากเรื่องราวที่เราสนใจ ไม่ต้องเปิด Dictionary ตลอดเวลา เปลี่ยนมาเป็นการอ่านเพื่อทำความเข้าใจหรือจับใจความจากบริบทที่เขาให้มาแทน
เมย์ได้มีโอกาสลงสนามสอบเมื่อปี 2016 ไม่แน่ใจว่าเมื่อเวลาผ่านไป รูปแบบการสมัคร และแนวการสอบ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ ไม่มากก็น้อยนะคะ