มีแหล่งที่มามากมายที่ให้คำนิยามของคำว่า “ความสุข” และนิยามส่วนใหญ่ก็มักจะแตกต่างกันไปในรายละเอียด เพราะความสุขของคนเราแตกต่างกันหรือเปล่านะ
เราก็เป็นอีกคนหนึ่งที่จะมาให้คำนิยามของคำคำนี้ .. ขอออกตัวก่อนเลยว่า ไม่รู้ว่านิยามของเราจะซ้ำกับนิยามของคนอื่นหรือไม่อย่างไร แต่นิยามนี้มาจากการที่เราถามตัวเองว่า “ความสุขคืออะไร” แล้วก็ได้คำตอบให้กับตัวเองว่า “ความสุขของฉันคือการรู้จักตัวเอง”
เรารู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ความฝันคืออะไร อยากทำอะไร และทำอะไรแล้วจะมีความสุข .. ที่สำคัญคือ เรารู้ว่าเวลาที่เรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข เราจะรับมือกับตัวเองอย่างไร
ตัวตนของฉันเอง
- ชอบอิสระ เพราะครอบครัวเลี้ยงดูอย่างให้อิสระมาโดยตลอด คอยให้คำปรึกษาและชี้แนะอยู่เสมอ แต่ให้สิทธิ์เราในการตัดสินใจ และเคารพในการตัดสินใจของเรา รวมถึงคอยสอนให้เรารู้จักดูแลตัวเอง สอนให้เรามีตัวตนอย่างทุกวันนี้
- ชอบความสวยความงาม เริ่มมาจากคุณแม่ที่ชอบดูแลตัวเองมาตั้งแต่เด็ก พอมีลูกสาวก็เลยเกิดการถ่ายทอด คอยบอกคอยสอนให้เราทาครีมบำรุงและหลีกเลี่ยงแสงแดดมาตั้งแต่เล็ก ๆ เมื่อโตมาเราก็ชอบลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เสมอ เมื่อก่อนเป็นเด็กติดทีวี เห็นโฆษณาสกินแคร์ตัวใหม่เป็นไม่ได้ เพราะจะพุ่งตัวไปซื้อมาลอง พอโตมาเลิกติดทีวี มาติดอินเทอร์เน็ตแทนก็เลยได้เริ่มอ่านรีวิว อ่านบล็อก และดูยูปทูปต่าง ๆ .. จนวันนึงเราก็เกิดความคิดที่อยากจะมีบล็อกเป็นของตัวเอง เพราะปกติเพื่อนก็จะมาขอคำแนะนำอยู่แล้ว หรือไม่ก็เรานี่แหละที่ชอบไปโม้ให้เขาฟัง โดยบล็อก minimayy.com ของเราเป็นเหมือนการเล่าความรู้สึกที่ได้ลองใช้สกินแคร์ให้เพื่อนฟัง ผ่านตัวหนังสือบนสมุดบันทึกออนไลน์
- ชอบถ่ายรูปและชอบเดินทาง โดยการเดินทางของเราไม่จำเป็นต้องไปจุดแลนมาร์ค แต่ขอไปในที่ที่มีธรรมชาติหรือบรรยากาศสวย ๆ หรือบางครั้งการได้นั่งบนรถนาน ๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับใครสักคน เราก็คือว่าเป็นการเดินทางเหมือนกัน
- คิดบวก คิดว่าตัวเองเป็นคนโชคดี (เพื่อน ๆ ก็มักจะบอกเสมอว่าเรา “โชคดีจริง ๆ”) เพราะทุกสถานการณ์ ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่มีครั้งไหนที่จะมีแต่ด้านดีหรือด้านแย่ด้านใดด้านหนึ่ง เพราะทุกอย่างเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน หากครั้งไหนที่เจอสิ่งดี ๆ เราก็จะคิดว่าตัวเรานั้นโชคดี แต่หากครั้งไหนที่ต้องเจอกับสถานการณ์ที่เลวร้ายหรือสถานการณ์ที่เราไม่ชอบใจ เราด็จะคิดว่านี่คือบทเรียนที่กำลังสอนอะไรบางอย่างให้แก่เรา
- ชอบอ่านนิยาย ไม่ชอบความวุ่นวาย และไม่ชอบการทะเลาะ
วิธีรับมือกับตัวเองเมื่อไม่มีความสุข
เราคิดว่าคนเรา (แทบ) ทุกคนเป็นไบโพลา คือมีอารมณ์สองขั้ว น้อยคนที่จะอารมณ์ดีและมีความสุข หรือมีความทุกข์ความเศร้าอยู่ตลอดเวลามาตั้งแต่เกิด แต่คนเราก็มีความเหวี่ยงของอารมณ์ที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เราจะจัดการรับมือกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของเราอย่างไร
เราเป็นคนที่เวลาเศร้าก็จะเศร้าสุด เศร้าให้สุด แต่จะเศร้าแค่แปปเดียว รวมถึงเป็นคนที่คิดบวกอยู่เสมอ ทำให้เป็นคนที่ร่าเริง และมีความสุขง่าย แค่ได้อ่านนิยาย ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ หรือมีคนสังเกตในสิ่งที่เราทำ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว
เวลาที่เรารู้สึกไม่มีความสุข เราจะคิดงานไม่ค่อยออก จะเป็นอารมณ์ง่วง ๆ นอยด์ ๆ แต่ว่าช่วงอารมณ์แบบนี้ของเราจะมีประโยชน์เมื่อต้องอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือเรียนหรือหนังสือวิชาการ เพราะเรารู้สึกว่าอารมณ์แบบนี้ทำให้เรานิ่งขึ้น และมีสมาธิมากขึ้น (ปกติเป็นคนไฮเปอร์มาก อยู่เฉยไม่ค่อยได้) ..
แต่ถ้ารู้สึกแย่มากจริง ๆ เราจะไม่ทำงานเลย จะนอน หรือไม่ก็ทำในสิ่งที่เราชอบ เช่น อ่านบล็อก หรือดูยูทูป เพราะรู้สึกว่าอารมณ์มันแย่มากแล้ว ฝืนทำไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่การที่เราได้พักผ่อน ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ เพื่อให้อารมณ์เราดีขึ้น สมองมันจะคลายความเครียด ความกดดัน แล้วก็ช่วยให้เราคิดงาน หรือหาทางออกกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีกว่า
เวลาที่เรามีความสุขมาก ๆ เราจะชอบวางแผน ไม่ว่าจะเป็นวางแผนงาน วางแผนชีวิตส่วนตัว วางแผนอนาคต เช่น เรียนจบแล้วจะทำอะไร จะอยู่อย่างไร จะกิน จะนอน จะบริหารเงินอย่างไร (เรียนจบแล้วต้องดูแลตัวเอง) เพราะมันเป็นช่วงที่สมองของเราจะแล่นมาก ไอเดียกระฉูด และบางทีสิ่งที่เราคิดเล่น ๆ ขำ ๆ ก็มักจะมีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้ในบางสถานการณ์ แต่ถ้าเราเครียดหรือกดดัน บางทีเรื่องง่าย ๆ เราก็คิดไม่ได้ .. อีกอย่างคือ เวลาที่เราคิดงานตอนที่เรามีความสุข คุณภาพของงานมักจะดีกว่าเสมอ
เราเป็นคนที่โชคดีที่เป็นคน “ดาว์น” (ไม่มีความสุข) ง่าย แต่ก็ “แฮปปี้” (มีความสุข) ง่าย .. ถึงง่ายมาก แล้วก็ค่อนข้างที่จะจัดการและรับมือกับอารมณ์ของตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะเรารู้จักตัวเอง
แล้วเพื่อน ๆ ละคะ รู้จักตัวเองกันแล้วหรือยัง .. และความสุขของคุณคืออะไร ..
เราหวังว่าทุกคนที่กำลังหาตัวเอง จะได้รู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร .. แล้วก็หานิยาม “ความสุข” ในรูปแบบของตัวเองเจอเร็ว ๆ นี้
สวัสดีค่ะ.
บันทึกเพิ่มเติม : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 บนบล็อก minimayy.com และใช้ส่งเป็นการบ้านสาขา Content ของค่าย Young Webmaster Camp ครั้งที่ 12