วิธีดูแลตัวเองระหว่างทริป ป้องกันการเป็น AMS บนที่สูง

เทรคกิ้งขึ้นที่สูงครั้งแรก เมย์ไม่มีอาการ AMS เลย แต่มีภาวะสายตาสั้นชั่วคราว เริ่มจากมองไกลไม่ชัด แล้วลดระยะลงเรื่อย ๆ พีคสุดคือ อ่านป้ายจองโต๊ะที่ห่าง 1 ช่วงแขนไม่ได้ 

แต่อยากไปอีก ทริปถัดไปต้องเตรียมตัวหมดนี่เลย

ฟิตร่างกาย 

ทริปแรกเมย์เตรียมความฟิตด้วยการ เดินป่าไทย 2 สัปดาห์ครั้ง ต่อเนื่อง 2 เดือน เพื่อเรียนรู้ร่างกายตัวเอง ว่าอาการแบบไหนคือไหว ไม่ไหว 

ลงวิ่ง Half Marathon 1 ครั้ง ฝึกความอดทนของร่างกาย

หยุดเดินป่า 1 เดือนก่อนเดินทาง เน้น Squat อยู่บ้าน วันละ 100-200 ครั้ง (Sumo Squat ก็ได้) 

รักษาร่างกายให้ไม่เจ็บไม่ป่วย

กิน Diamox

Diamox ช่วยเตรียมระบบร่างกายของเราให้รับมือกับความสูงได้ดีขึ้น

กินวันละครึ่งเม็ด (125 มก.) เช้า และเย็น ทุกวัน ตั้งแต่ 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป จนถึงวันที่เดินลง

ซึ่งภาวะสายตาสั้นชั่วคราวของเมย์ก็มาจาก Diamox นี่แหละ เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ้าง ส่วนมากคนที่มีอาการ จะกินครั้งละ 2 เม็ด แต่เมย์กินครั้งละครึ่งเม็ด ผู้โชคดีแล้วหนึ่ง

ก่อนออกทริปครั้งหน้า ต้องไปหา Travel Med อีกที ถ้ามียาตัวอื่นทดแทนกันได้ ก็กินยาตัวอื่น 

ถ้าไม่มี เมย์ยังสามารถกินยา Diamox ได้ แต่ไม่เกินครั้งละ 125 มก. และจะมีสภาวะสายตาสั้นชั่วคราวตั้งแต่เริ่มกิน ไปจนถึง 3 สัปดาห์หลังหยุดกินยา

** อาจารย์หมอวสุ ผู้เชี่ยวชาญด้านต้อ ที่ TRSC เป็นผู้วินิจฉัยอาการให้ **

อุปกรณ์กันหนาวเท้าจรดหัว

การใส่เสื้อและกางเกง 3 เลเยอร์ช่วยให้ร่างกายอุ่นก็จริง แต่ถ้ามือ เท้า และหัวของเราหนาว ร่างกายก็จะรู้สึกหนาวและสั่นได้ 

ดังนั้น นอกจากเสื้อและกางเกงแล้ว อย่าลืมให้ความสำคัญกับหมวก ถุงมือ และถุงเท้าด้วย

ใส่ชุดกันหนาวแบบจัดเต็มออกจากที่พัก 

แม้ Tea House จะไม่มีฮีทเตอร์ แต่อากาศข้างนอกก็หนาวกว่ามาก

ควรใส่ชุดกันหนาวให้อุ่นที่สุดก่อนออกจากที่พัก เพื่อให้ร่างกายคงความอุ่น เมื่อปรับสภาพได้ และร่างกายเริ่มร้อน ค่อยปรับเลเยอร์ ถอดเก็บในเป้

เป้ควรใหญ่พอสำหรับใส่อุปกรณ์กันหนาวทั้งหมด และอุปกรณ์กันหนาวควรเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ เก็บแรงไว้เดิน

เดินให้ช้าที่สุด

แม้ว่าร่างกายจะฟิต แต่ก็ควรเดินให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไกด์จะเตือนเสมอว่า बिस्तारी (Bistari) แปลว่า Slowly

หายใจไม่เต็มปอดให้หอบเข้าไปเลย

การหายใจบนที่สูง เนื่องจากแรงดันอากาศลดลง ร่างกายจะได้รับออกซิเจนต่อครั้งน้อยลง (ออกซิเจนมี แค่แรงดันไม่พอ) 

แต่เลือดต้องการออกซิเจน และถ้าออกซิเจนในเลือดต่ำ ไปต่อไม่ได้

เพื่อนที่เป็นวิสัญญีแพทย์แนะนำเมย์ว่า ถ้ารู้สึกหายใจไม่เต็มปอด ให้หายใจเหมือนหอบเข้าไปเลย โช๊คเข้าไปเยอะ ๆ 

ซึ่งเมย์ก็ทำตาม ตลอดเส้นทางไม่มีปัญหาเรื่องการหายใจ ยกเว้นเรื่องน้ำมูก ซึ่งล้างจมูก พ่นยา กินยาลดน้ำมูกแล้วก็ไม่หาย เดินสูดน้ำมูกต่อไป

ล้างจมูกทุกคืนก่อนนอน

เพื่อลดน้ำมูก และเพิ่มความสามารถในการสูดออกซิเจน

สั่งเมนูที่คิดว่าจะกินได้มากที่สุด

การกินเป็นหนึ่งในเช็คลิสต์ว่าเราเป็น AMS ไหม

โจทย์ของเมย์เลยเป็นการสั่งเมนูที่คิดว่าตัวเองจะกินได้เยอะที่สุดในมื้อนั้น โชคดีที่เอนจอยกับอาหารเนปาล แต่บางวันเหนื่อยมาก ก็กินแค่มาม่า หรือซุปไข่

เน้นแค่กินให้ได้ทุกมื้อก่อน

เติมพลังงานและสารอาหารที่จำเป็น

วันไหนที่อาหารไม่ค่อยมีพลังงาน หรือรู้สึกว่าไม่มีแรง

กลางวันเมย์จะเติมด้วย Energy Bar และ Energy Gel ให้มีพลังเดินต่อ

ส่วนมื้อเย็น จะเสริมด้วย Whey Protein เพื่อเติมโปรตีนให้เพียงพอในแต่ละวัน รวมถึงใช้ Recovery ร่างกายด้วย

นอนให้หลับ

การนอนก็เป็นอีกหนึ่งเช็คลิสต์ของการเป็น AMS 

ต้องนอนให้ได้ และห้ามนอนดึก เนื่องจากต้องตื่นแต่เช้าทุกวัน เดี๋ยวนอนไม่พอ พลังงานไม่มี

ตอนกลางคืนบนเขา ค่อนข้างมืดสนิท สำหรับเมย์ผ้าปิดตาที่พกไป แทบไม่ได้ใช้ นอนง่ายกว่าที่คิด 

พก Warmer ไปเยอะ ๆ แหล่งความร้อนที่จะช่วยให้อุณหภูมิในถุงนอนของเราอุ่นขึ้น พออุ่นสบาย ก็หลับง่าย

EBC รูทที่เมย์ไป มีช่วงที่ต้องนั่งรถตู้ข้ามเมืองนาน ๆ เมย์กินยาแก้เมารถ สวมผ้าปิดตา และหลับไปเลย ถ้ารู้สึกตัวระหว่างทางจะพยายามข่มตาให้หลับต่อ เพื่อเลี่ยงอาการเมารถ 

ถ้ามีอาการเมารถ ร่างกายไม่พร้อม เมย์จะเดินเขาลำบาก

อาบน้ำเฉพาะวัน Acclimatization เท่านั้น

กว่าเราจะเดินไปถึงที่พักในแต่ละวัน ก็บ่าย 3-4 แดดเริ่มหมด ร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน 

ถ้าจะให้ดี อาบช่วงเที่ยงของวันพัก

อาการ AMS บางอย่าง ณ ตอนที่ทำเรารู้สึกไหว ชิล แต่ระบบร่างกายข้างในอาจจะปรับตัวไม่ทัน อันนี้ต้องระวัง

ถาม/ฟังในสิ่งที่ไกด์เตือน

เลี่ยงเนื้อสัตว์บนที่สูง

เนื้อกระป๋อง เช่น ทูน่า โรซ่า กินได้ 

ที่ควรเลี่ยงคือกลุ่มเนื้อสด เพราะเราไม่รู้ว่าเค้าเก็บไว้กี่วันแล้ว เสี่ยงท้องเสีย โดยเฉพาะวันที่ใกล้ถึงจุดหมาย ป่วยนิดเดียวคือต้องเดินลงเลย

ดื่มน้ำเยอะๆ 

ไกด์ทริป EBC บอกค่อนข้างละเอียดว่าเช้าวันนี้ควรเติมน้ำเปล่ากี่ลิตร ตอนเที่ยงเติมอีกกี่ลิตร

เติมแล้วก็อย่าลืมกิน เพราะการดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมาย รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ด้วย

ไม่ควรนอนกลางวัน แต่ Power Nap ระหว่างทางได้

เมื่อเดินถึงที่พัก บางวันเพลียมาก อยากหลับสักงีบ แต่ไกด์ห้าม ไม่ให้นอน เดี๋ยวเราจะปวดหัว และตอนกลางคืนจะนอนไม่หลับ พอนอนไม่หลับก็จะนอนไม่พอ ส่งผลต่อร่างกายเป็นสเต็ปไป 

ตอนที่ง่วงแล้วโดนห้ามนอน ทรมานมาก สติไม่มี ทำตัวไม่ถูก 

แต่ถ้าเป็นระหว่างเดิน ถ้าง่วง พลังงานร่างกายใกล้หมด เมย์ Power Nap เลย โดยจะบอกคนในกลุ่มไว้ก่อนว่า ถ้าเดินถึงเราแล้ว ปลุกเราด้วย 

กี่นาทีก็ไม่ว่า ขอให้ได้หลับ หลังจากตื่นนอนจะเฟรชมาก เดินต่อได้สบายตัวกว่า

สนใจเรื่องผิว สกินแคร์ การเงิน การเดินทาง การใช้ชีวิต และการจดบันทึก