ฟรีแลนซ์ คือ อาชีพรับจ้างอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับองค์กรไหน ไม่มีลักษณะการทำงานที่ตายตัว และใครก็สามารถเป็นฟรีแลนซ์ได้ ขอแค่คุณมีความสามารถ ที่มีคนยอมจ่ายเงิน
เรียนจบแล้วเป็นฟรีแลนซ์เลยได้ไหม
ไม่จำเป็นต้องรอให้เรียนจบก็สามารถทำงานเป็นฟรีแลนซ์ได้
การเริ่มต้นทำงานฟรีแลนซ์ตั้งแต่สมัยเรียนจะทำให้เรามีเวลาได้เรียนรู้และลองผิดลองถูกเกี่ยวกับการทำงานมากยิ่งขึ้น เมื่อเรียนจบ ประสบการณ์ที่สะสมมา ก็น่าจะทำให้เราตอบตัวเองได้ว่า จะทำงานเป็นฟรีแลนซ์ต่อ หรือว่าจะลองทำงานในบริษัทดู
แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยทำงานฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว การเรียนจบแล้วออกมาเป็นฟรีแลนซ์เลยอาจจะค่อนข้างเสี่ยง เนื่องจากเรามีหลายอย่างที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำงาน การดีลงานกับลูกค้า การหาลูกค้า การวางบิล การทำสัญญา และอื่น ๆ อีกมากมาย
ดังนั้น ส่วนใหญ่จะแนะนำว่า ให้ลองทำงานในบริษัท เพื่อศึกษาระบบก่อน
“วิธีเตรียมตัวที่ดีที่สุด คือการทำงานจริง” – @Riety
การอยู่รอดของฟรีแลนซ์
ฟรีแลนซ์ไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยความสามารถเรื่องงานเพียงอย่างเดียว
สิ่งสำคัญที่ควรมีไม่แพ้กันคือ Attitude การทำงานที่ดี มีความรับผิดชอบ มีความอดทน และเป็นคนน่าทำงานด้วย
รวมไปถึงการทำการตลาด การหาลูกค้า และการดูแลลูกค้า เพื่อให้เรามีงาน และมีรายได้อย่างต่อเนื่อง
หาลูกค้ายังไง
“ทำการตลาดค่ะ” ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดให้สินค้าและบริการ หรือทำการตลาดให้ตัวเราเอง (Personal Branding)
เริ่มต้นจากความชัดเจนว่า “เราทำอะไร” “สินค้าหรือบริการของเราคืออะไร” และ “ใครเป็นลูกค้าของเรา”
อธิบายทุกอย่างออกมาใหัชัดเจนอย่างเฉพาะเจาะจง แล้วเราจะได้รู้ว่า ลูกค้าของเราคือใคร มีลักษณะอย่างไร อยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ทำไมเขาถึงต้องการสินค้าหรือบริการของเรา รวมไปถึงว่า “เราจะเข้าถึงเขาได้อย่างไร”
“ฟรีแลนซ์จะอยู่รอดต้องมีงานสม่ำเสมอ และลูกค้ายอมจ่ายแพงกว่าเพื่อใช้บริการเจ้าที่คุยง่ายกว่า” – @Woraperth
การดูแลลูกค้าเก่า ง่ายกว่าและใช้งบน้อยกว่าการหาลูกค้าใหม่ รวมไปถึงการแนะนำแบบปากต่อปาก ก็เป็นการตลาดที่ทรงประสิทธิภาพมาก ๆ
ดังนั้น เมื่อมีลูกค้าแล้ว อย่าลืมดูแลลูกค้าเหมือนเขาเป็นคนสำคัญของเรา
ระบบการทำงาน
การทำงานของฟรีแลนซ์จะแตกต่างกันไปตามลักษณะงานและความสามารถ ดังนั้นในบทความนี้เราจะขอพูดถึงภาพรวมระบบการทำงานของฟรีแลนซ์กับนายจ้างหรือลูกค้านะคะ
1. เมื่อมีคนติดต่องานมา หรือเราเป็นคนเข้าไปเสนองานก็ตาม อันดับแรกที่ควรคุยให้เข้าใจตรงกันคือ Concept งาน จะทำอะไร แบบไหน อย่างไร
2. เมื่อตกลง Concept ได้แล้ว ค่อยเป็นเรื่องของ Timeline การทำงาน ว่าตารางการทำงานของเราสามารถทำงานตามที่ลูกค้าต้องการภายในเวลาที่ลูกค้ากำหนดได้หรือไม่
3. หากตกลง Timeline กันได้ ก็เป็นเรื่องของการคุยราคา ซึ่งการคิดราคาเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบการทำงาน ลักษณะงาน ระยะเวลา เราเป็นใคร (มีชื่อเสียงและผลงานอย่างไร) ลูกค้าเป็นใคร ลิขสิทธิ์ของผลงาน และอื่น ๆ อีกมากมาย
** ลองปรึกษาฟรีแลนซ์ในวงการเดียวกัน หรือหาราคากลาง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ **
** ข้อ 2 กับ 3 สามารถสลับกันได้ **
4. เซ็นต์สัญญา เบื้องต้น เริ่มจากการคุยงานแบบเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น คุยผ่านอีเมล์ หรืออย่างน้อยก็ควรจบด้วยการคอนเฟิร์มรายละเอียดงานผ่านอีเมล์
นอกจากรายละเอียดการทำงาน อย่าลืมใส่เงื่อนไขการทำงานอื่น ๆ ที่จำเป็นเข้าไปด้วย เช่น ส่งงานกี่ครั้ง แก้งานได้กี่ครั้ง ลิขสิทธิ์ของผลงานเป็นของใคร เป็นต้น (ประสบการณ์จะสอนเรา แล้วจากหมายเหตุในอีเมล์ จะกลายไปเป็นหนังสือสัญญาด้วยตัวมันเอง)
5. ทำงาน (อย่าลืมที่จะมีความรับผิดชอบให้มาก และดูแลลูกค้าให้ดี)
6. ส่งงาน ภายในระยะเวลาที่กำหนด
7. รับเงิน (สอบถามรายละเอียดเรื่องการชำระเงินให้ดี จ่ายแบบไหน วางบิลวันไหน เครดิตกี่วัน)
Work & Life Balance
นอกเหนือจากที่กฎหมายระบุ ชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จว่าต้องทำงานเท่าไหร่ ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างไร เพราะเป้าหมาย และภาระหน้าที่ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ดังนั้น ให้ดูจากเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ แล้ววางแผนการทำงานรวมไปถึงการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ที่มี
มีฟรีแลนซ์อยู่คนนึงที่เราสนใจ Work & Life Balance ของเขานั่นก็คือ ปั๋น ดริสา หรือ Riety ที่ให้เวลากับการทำงาน 100% แต่ก็ยังมีเวลากินและเวลานอนตามปกติ
เมื่อถึงเวลาที่ต้องกิน .. ก็กิน เมื่อถึงเวลาที่ต้องนอน .. ก็นอน ถ้างานไม่เสร็จ หรือมีงานด่วน ก็ตื่นเช้ามากกว่าปกติมาทำงานต่อ
การที่ฟรีแลนซ์ต้องอดหลับอดนอน ถ้าไม่ใช่เพราะว่างาน Overload มาก ๆ ก็น่าจะมาจากการแบ่งเวลาและวินัยที่ยังไม่ลงตัว
ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ดีไหม ?
ไม่มีใครตอบแทนเราได้ ว่าการทำงานแบบไหน ดี หรือไม่ดี สำหรับตัวเราเอง เพราะความต้องการและรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน .. ลองทำและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ดีที่สุด
พ่อแม่บางคน อาจจะเป็นห่วง เพราะการทำงานแบบฟรีแลนซ์รายได้ไม่แน่นอน ดูไม่มีความมั่นคง แต่ถ้าเราพิสูจน์ให้เขาได้เห็นว่า “เราทำได้” เราสามารถหาเงินได้อย่างสม่ำเสมอ สามารถดูแลตัวเองได้ และถ้ายิ่งสามารถดูแลพวกท่านได้ด้วย หายห่วงแน่นอน
แต่กว่าจะไปจนถึงจุดที่พ่อแม่หมดห่วง เราต้องมีวินัยในการทำงาน การใช้ชีวิต และการเงินของเราก่อน
ทำงานเป็นฟรีแลนซ์รายได้ดีไหม
ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน ผลงาน และความมีชื่อเสียงของเรา บางคนก็รายปานกลาง แต่บางคนก็รายได้ดีมาก ๆ
อยากได้เงิน เดือนละเท่าไหร่ ก็นำค่าจ้างแต่ละครั้ง (หรือค่าเฉลี่ย) ไปหารดู จำนวนงานต่อเดือนที่เราต้องทำ หรือสามารถทำได้ก็จะแตกต่างกันไป
แต่สิ่งหนึ่งที่ถ้าคนทำงานฟรีแลนซ์มีปุ๊บ จะหายใจได้สะดวกหน่อย นั่นก็คือ วินัยทางการเงิน
เนื่องจากการทำงานฟรีแลนซ์ เป็นการรับจ้างอิสระ ไม่ได้ขึ้นตรงกับองค์กรไหน ไม่มีสวัสดิการรองรับ ไม่มีค่ารักษาพยาบาล ไม่มีโบนัส แล้วก็ไม่รู้ว่าเดือนไหนงานจะเยอะ จะน้อย
ดังนั้น เราต้องบริหารจัดการการเงินให้ดี ให้มีพอใช้ มีเหลือเก็บ รวมถึงมีเงินสำรองฉุกเฉิน และถ้าศึกษาเรื่องการเงินการลงทุนเพิ่มเติมได้ ก็จะดีมากเลย
สรุป
การทำงานฟรีแลนซ์ก็คล้ายกับการทำงานในบริษัท เพียงแต่เราต้องดูแลรับผิดชอบเองทั้งหมด อาจจะมีความสะดวกสบายในเรื่องของการจัดสรรเวลาทำงาน และสถานที่ทำงาน แต่ก็มีความเสี่ยงในเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้ หรือการป้องกันรายจ่ายที่ไม่พึงประสงค์
ดังนั้น หากเราสามารถรับผิดชอบงานได้ทั้งหมด หาลูกค้าเองได้ จบงานด้วยตัวเองได้ การออกมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
Source
Freelance Survival Kit | ฟรีแลนซ์ยังไงให้รอด | PART 1
Facebook Live : How to survive as a freelance
แฉชีวิตฟรีแลนซ์แบบหมดเปลือก… อาชีพนี้ดีจริงหรือโกหก !?
[สรุป] 3 เทคนิคลับสำหรับฟรีแลนซ์ จากงาน YWC13 Ignite
[ Freelance ] 7 สิ่งสำคัญที่ฟรีแลนซ์ต้องเขียนในใบสัญญา ก่อนโดนโกง !!
วิธีป้องกันลูกค้าเบี้ยวเงิน
วิธีเริ่มต้นทำฟรีแลนซ์
เป็นฟรีแลนซ์ยังไง ให้ไม่อดตาย