ไม่มีพื้นฐาน Design แต่อยากออกแบบให้สวย ต้องทำยังไง
ก็ต้องไปเรียนพื้นฐานสิคะ 555555 เพราะก่อนจะ Break เราต้องรู้ Rule ก่อน วันนี้เจ้านายก็เลยส่งไปเรียน Design for non Designer ของ คุณโบว์ ลินดา ไกรวนิช ซึ่งจัดขึ้นที่ Hubba เอกมัยซอย 4
มาดูกันว่าที่เรียนมาทั้งวัน เราสามารถสรุปอะไรออกมาได้บ้าง
Basic Design Principle
สิ่งแรกที่เราได้เรียนในคลาสนี้ คือ พื้นฐาน ที่เป็นพื้นฐานสุด ๆ นั่นก็คือการจัดการข้อมูลให้เข้าใจง่ายและสวยงามมากขึ้นภายใน 4 ขั้นตอน
- Proximity คือการ Group สิ่งที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกัน และเหลือพื้นที่ว่างไว้บ้างก็ไม่เป็นไร เพราะ White Space is good.
- Alignment คือการจัดข้อมูลให้ Connect กัน โดยมี Grid เป็นตัวสร้างพลัง จะจัดชิดซ้ายหรือขวาก็ได้ โดยมือใหม่อย่างเรา 1 Align ต่อหน้าก็พอ (Align กลางเหมาะสำหรับงานออกแบบประเภท Cards หรือ Quote ที่ใช้ตัวหนังสือใหญ่ ๆ)
- Repetition คือการ Repeat ชิ้นงาน เพื่อให้ทุกอย่าง Relate กัน เราสามารถ Repeat ได้ทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร สี การจัดวาง และอื่น ๆ ซึ่งการ Repeat หรือขั้นตอนการ Repetition นี้ จะช่วยให้ผู้บริโภคจดจำงานของเราได้ง่ายขึ้น แต่ก็ระวังการ Repeat เยอะ ๆ จนรกและน่ารำคาญนะคะ
- Contrast คือการทำสิ่งที่จะเน้นให้แตกต่างนั้นโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด ชัดแบบไม่ต้องสังเกต เพื่อดึงดูดความสนใจ โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยเริ่มจากการปรับสี และขนาดตัวอักษร ซึ่งจะปรับ Contrast ทั้งที ก็ต้องไปให้สุด
Color Matters
หลังจากที่เราทำความเข้าใจเรื่องการจัดวางข้อมูลเบื้องต้นแล้ว สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจต่อ คือเรื่องของสีสัน เพราะสีสันมีผลต่อความรู้สึกและการจดจำ
เรียนรู้ ความหมายของสี เพราะเราจะได้เลือกใช้สีได้สอดคล้องกับความสามารถในการสื่ออารมณ์ของสีนั้น ๆ หลังจากนั้นค่อยเลือกสีให้เหมาะกับชิ้นงาน เช่น เลือกให้เหมาะกับเพศหรือวัยของกลุ่มเป้าหมายของเรา
การเลือกใช้สีมีกฎอยู่ 3 ข้อ คือ ถ้าต้องการเน้นให้คนอ่าน ก็ต้องเลือกสีให้อ่านออก อย่าลืม Corporate Identity ของแบรนด์หรือชิ้นงานด้วย สุดท้ายคือ ในงานหนึ่งชิ้นไม่ควรใช้เกิน 3-4 สี
เคล็ดลับดีไซเนอร์ ไม่ใช้สีดำ 100% เพราะจะทำให้ดวงตาของผู้อ่านล้าง่าย ดังนั้น ดีไซเนอร์ส่วนใหญ่จะเลือกใช้ค่าสีดำประมาณ 93-95%
สามารถเช็ค Contrast ของสีที่เราเลือกได้ที่ เว็บไซต์ Contrastchecker
Basic Typography
ช่วงบ่ายเรามาต่อกันที่เรื่องของตัวอักษร โดยเริ่มจาก The Anatomy of a Typeface เบสิคสำหรับ Designer ซึ่ง Non – Designer อย่างเรา รู้ไว้บ้างก็ดี
ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของ Kerning คือการปรับ Space ระหว่างตัวอักษร หรือ Hierarchy คือการตั้งค่าของ Typo แต่ละจุดไว้ก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องของ Designer ที่เรารู้ไว้บ้างก็ดีอีกเหมือนกัน
มะ! มาในส่วนที่เราควรจะรู้จริง ๆ บ้าง นั่นก็คือเรื่องของ Reading คือการเลือกใช้ตัวอักษรให้เหมาะกับการอ่าน จำง่าย ๆ คือ Headline เด่น ตัวใหญ่ จะหนาหรือบางก็ได้ แต่ต้องไปให้สุด ส่วน Body เน้นตัวอักษรที่อ่านง่าย สบายตา และทั้ง Headline และ Body ควรมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะพวก Headline ที่ 2-3
ประเภทตัวอักษร แบ่งออกเป็น 3 แบบทั้งอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นั่นก็คือ แบบมีหัว ที่เหมาะสำหรับการอ่าน แบบไม่มีหัว ที่เหมาะสำหรับเป็น Headline และแบบลายมือ ที่ดูหรูหรา เป็นทางการ
Font ที่เราเลือกใช้ ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ในงานชิ้นเดียวกัน ควรเป็น Font ตัวเดียวกัน โดยเราสามารถโหลดได้จาก dafont.com สำหรับภาษาอังกฤษ และ f0nt.com สำหรับภาษาไทย
เคล็ดลับดีไซเนอร์ ไม่ใช้ Headline แบบ Regular เพราะขยายใหญ่แล้วไม่สวย
8 ขั้นตอนการทำงาน Design
นอกจากเรื่องของพื้นฐานการออกแบบแล้ว คุณโบว์ยังแถมเรื่องขั้นตอนการวางแผนงาน Design ก่อนลงมือออกแบบจริง หรือเพื่อให้ง่ายต่อการส่งต่องานให้กับ Designer ด้วย
- ระบุเป้าหมาย ว่าเราจะทำอะไร และงานชิ้นนี้เราทำเพื่ออะไร
- กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร
- รายละเอียดเฉพาะของชิ้นงาน เช่น ภาพโปรโมท Facebook ควรมีตัวอักษรไม่เกิน 20% เป็นต้น
- Keyword อธิบายงานชิ้นนั้น เช่น สวย หรู ดูแพง
- Feeling ของกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากให้เขาเป็น
- หา Reference
- เลือกสีและตัวอักษร
- ขึ้นงาน
เครื่องมือที่จะช่วยให้ Non Designer ทำงานง่ายขึ้น
ท้ายสุด คุณโบว์ยังแถมเครื่องมือที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ Non – Designer อย่างเราทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- Canva เว็บไซต์ที่มี Template ชิ้นงานให้เราเลือกใช้เยอะมาก Element ต่าง ๆ ก็เยอะ เยอะจนเลือกไม่ถูกเชียวแหละ
- Coolors เว็บไซต์สำหรับเลือก Combination สี ถ้าใครยังคิดไม่ออกว่าจะใช้สีอะไรคู่ไหนดี ลองไปหาไอเดียที่เว็บนี้ได้
- Flaticon เว็บนี้เมย์ใช้บ่อย เป็นเว็บดาว์นโหลด icon ต่าง ๆ มีให้เลือกเยอะมาก อยากได้อะไรก็ Search หาได้เลย
- Free Stock Photos เช่น Unsplash ที่มีรูปภาพสวย ๆ ให้เราเลือกใช้
- Small PDF เว็บย่อขนาดไฟล์ PDF โดยเฉพาะพวกไฟล์ใหญ่ ๆ รูปเยอะ ๆ นอกจากนั้นยังสามารถแปลงไฟล์ PDF ให้เป็น JPG ไฟล์ Word และอื่น ๆ ได้ด้วย
การเรียนคลาสนี้เป็นอะไรที่เบสิคมาก ๆ แต่ถ้าไม่ได้เรียน เมย์ก็ไม่สามารถเข้าใจหรือต่อยอดให้ตัวเองได้ง่าย ๆ เช่นกัน เพราะจับจุดไม่ถูก
ทุกอย่าง ก่อนจะเป็นศิลป์ มันคือศาสตร์มีความหมาย ซึ่งถ้าเรารู้ความหมาย เราก็จะเลือกใช้งานได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราควรทำแบบนี้ไปบ่อย ๆ จนกว่าจะเข้าใจ และเลือกใช้ได้อย่างชำนาญ หลังจากนั้นค่อยแหกกฎ แต่งเติมความเป็นศิลปะ เพิ่มความเป็นตัวของตัวเองเข้าไปทีละนิด .. ทีละนิด