11 ข้อคิดจากเกมกระแสเงินสด (Cashflow)

หลังจากที่ได้ลองเล่น “เกมกระแสเงินสด” (Cash Flow) ครั้งแรก ติดใจมาก อยากเล่นอีกเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่มีโอกาสซะที เพราะคนรอบตัวไม่ค่อยเล่น จนกระทั่งพี่อาตู (อีกแล้ว) หอบหิ้วบอร์ดเกมกล่องนี้มาให้เล่นถึงออฟฟิศ (อีกแล้วววว) คงเป็นเพราะวนเวียนวกวนพูดกรอกหูพี่ตูเหลือเกิน

ความพีคคือ ครั้งนี้ “เล่นคนเดียว” เพราะพี่ตูไม่ว่าง พี่อีฟก็ไม่ยากเล่น แต่พี่อีฟใจดีมาก ที่มาช่วยให้เราเล่นคนเดียวได้

พี่อีฟช่วยอะไร ?

พี่อีฟช่วยอ่านกติกาการเล่นทุกอย่างที่เราสงสัย จนเราเข้าใจว่า อ๋อออ ! ที่ครั้งที่แล้วหลุดจากสนามแข่งหนูแล้วตาย (Game Over) ง่าย ๆ เป็นเพราะเราเล่นไม่ถูกกติกาเอง พอรู้ว่าเราสามารถกู้เงินจากธนาคารได้ ตกช่องนี้มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ทุกอย่างก็ดูคลี่คลายขึ้นมาในบัดดล

เกมกระแสเงินสด เล่นคนเดียวได้เหรอ ?

ตามกติกาแล้ว ควรเล่น 2 คนขึ้นไป แต่เราแค่อยากรู้ Concept การมีอิสรภาพทางการเงิน ไม่ได้หมายถึงรวยเฟร่อนะ ขอแค่ใช้ชีวิตโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน ไม่ต้องให้เงินมาเป็นปัจจัยบังคับในการเลือกใช้ชีวิตก็พอ

มีเรื่องจะโม้

ครั้งที่แล้วก็โม้ไปแล้วว่า เราสามารถหลุดออกจากสนามแข่งหนูได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ลองเล่น โอเค แม้ว่าหลุดออกมาปุปจะล้มละลายก็ตาม แต่ครั้งนี้เราไม่เป็นเหมือนเดิมแล้วนะ แถมเรายังสามารถเล่นจนจบเกมได้ด้วย ร่ำรวยเกือบพันล้าน (เล่นคนเดียวอยู่ 3 ชั่วโมง)

หมดเรื่องโม้ละ กลับเข้าสู่สาระกันต่อ (หวังว่าจะมี) บอกแล้วว่าวัตถุประสงค์ที่อยากเล่นอีกครั้ง และยอมเล่นคนเดียว ก็เพราะว่าเราอยากรู้ Concept ในการบริหารจัดการ การเงินและการลงทุน ซึ่งระหว่างเล่นเราก็ได้ข้อคิดหลายข้อเลยทีเดียว อยากเก็บไว้เตือนตัวเอง และหวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับใครที่ผ่านเข้ามา

ข้อคิดระหว่างเกม

1. ไม่ควรซื้อของที่ไม่จำเป็น หมายถึง ถ้าเราสามารถวางแผนการใช้จ่าย และสามารถควบคุมจิตใจตัวเองได้ ของที่ไม่จำเป็น ยืดไปก่อน ยังไม่ต้องซื้อ โดยเฉพาะของที่ก่อให้เกิดภาระ “หนี้สิน” ซื้อแล้ว เงินขาดมือ เป็นหนี้ หัวหมุน

2. ค่าเลี้ยงดูลูกแพงมาก ไหนจะค่าอุปกรณ์ และค่าสร้างเสริมประสบการณ์ เป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่อยากมีลูกเลย

3. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพิ่มรายได้ให้มาก แล้วนำไปสร้างทรัพย์สิน เพราะเมื่อรายได้จากทรัพย์สินมากกว่ารายจ่ายเมื่อไหร่ เท่ากับมีอิสรภาพทางการเงิน

4. สร้างรายได้ให้มาจากหลายช่องทาง เพิ่มการหมุนเวียน “เงินเข้า” ให้บัญชีรายรับรายจ่ายบ้าง ไม่ใช่ทั้งเดือนมีแต่รายจ่าย มีรายได้แค่ครั้งเดียว

5. ก่อนจะนำเงินไปสร้างทรัพย์สิน ต้องประกันความเสี่ยงก่อน หลังจากที่ได้ลองเล่นก็ทำให้เราตระหนักในข้อนี้ เพราะบางทีเราอาจจะมีเงินที่สามารถนำไปใช้ในการลงทุน หรือสร้างทรัพย์สินได้ แต่บางทีพอจ่ายออกแล้ว ดันมีความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เราควบคุมไม่ได้เข้ามา อาจทำให้การเงินเราชะงักได้ ความเสี่ยงที่ว่าหมายรวมทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ อุบัติเหตุ ตกงาน และอื่น ๆ

6. ควรลงทุนในทรัพย์สินที่สร้างกระแสเงินสด เวลาขายไม่ออกจะได้ไม่เดือดร้อน ซึ่งขณะเล่นเราไม่สนใจทรัพย์สินที่ไม่สร้างรายได้เลย เพราะเรารู้ว่าควรโฟกัสอะไร กำลังมองหาอะไร ดังนั้น อะไรที่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เรามองข้ามได้ง่ายมาก (แต่ชีวิตจริงยากมาก)

7. หากมีทรัพย์สินในครอบครอง อย่าลืมสำรองเงินไว้สำหรับซ่อมแซม ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ ถ้าเรามีเงิน เราก็คงจะลงทุนสร้างทรัพย์สิน เช่น บ้าน หรือคอนโด อย่างหมดหน้าตัก โอเค อาจจะไม่ตึง แต่ถ้ามีรายจ่ายอื่น ๆ เข้ามา คือช็อต ! ดังนั้น ข้อคิดนี้สอนเราให้รู้ว่า อย่าลืมสำรองเงินไว้ซ่อมแซมด้วย

8. ถ้ามีทรัพย์สินที่สร้างกระแสเงินสดต่อเดือนได้ ไม่ต้องขายเพื่อเกร็งกำไรก็ได้ กินยาว ๆ ดีกว่า เพราะถึงจะได้เงินคืนมามากกว่าที่ลงทุน แต่ก็ใช่ว่าจะหาทรัพย์สินที่สร้างกระแสเงินสดเท่าเดิมได้ง่าย ๆ เก็บเงินไปลงทุนเพิ่มแทนจะดีกว่า (เป้าหมายขณะเล่น คือต้องมีกระแสเงินสดต่อเดือนมาก ๆ จะได้หลุดจากสนามแข่งหนูเร็ว ๆ)

เพิ่มเติม

1. ควรอัพเดทสถานะทางการเงินของตัวเองอยู่เป็นประจำ เพราะที่เราสามารถเล่นจนจบเกมได้ ส่วนหนึ่งเราว่าน่าจะมาจากเราเห็นงบการเงินของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

2. กล้าที่จะลงทุน เพื่อเพิ่มจำนวนเงินคงเหลือ และกระแสเงินสด

3. แต่จงลงทุนในสิ่งที่เรารู้ ผ่านการศึกษาทำความเข้าใจเป็นอย่างดี และเหมาะกับจริตของเรา (สิ่งที่เราถนัด)

สนใจเรื่องผิว สกินแคร์ การเงิน การเดินทาง การใช้ชีวิต และการจดบันทึก