การจัดกระเป๋าไป Everest Base Camp ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่โคตรมีอะไร วุ่นวายสุด
ลงดีเทลของทุกชิ้น แบบพร้อมแพ็คกระเป๋าไปเนปาลตลอดเวลา
สร้าง Checklist
เมย์เริ่มหาจากรีวิว และสอบถามคนที่เคยไปมาแล้ว
นำรายการของหลาย ๆ คนมารวมกันแล้วสร้าง Checklist สรุป ว่าส่วนใหญ่เค้าพกอะไรไปกันบ้าง
ผสมกับ Checklist สิ่งของที่เมย์พกไปใช้เวลาเดินป่าไทย
ปรับตามสภาพอากาศ
ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเดินทาง เมย์เปิดเช็คอุณหภูมิบ่อยมาก
และลองใช้อุปกรณ์ โดยเฉพาะเครื่องกันหนาว ว่ารับมือกับสภาพอากาศตามที่คาดการณ์ได้ไหม
เมย์สลับเซ็ตกันหนาวไปเดินป่าเพื่อเช็คว่าแต่ละชิ้นใช้งานได้ประมาณไหน กับพาเซ็ตไฟนอลไปลองที่เมืองหิมะ ดรีมเวิล์ด
จำกัดน้ำหนักกระเป๋า
สายการบินภายในประเทศที่ไปลง Lukla ใช้เครื่องบินเล็ก จึงจำกัดน้ำหนัก โหลดกระเป๋าได้ไม่เกิน 10 กก. + Carry on ไม่เกิน 5 กก. ต่อคน
10.xx kg. กับ 5.xx kg. เป็นน้ำหนักที่สายการบินรับได้
ถ้าไปด้วยกันหลายคน ก็ชั่งรวมแล้วหารด้วยจำนวนอีกที 0.xx กก. ที่เกินมา พอรวมกันหลายใบก็กลายเป็นหลายโล ต้องจ่ายค่าน้ำหนักส่วนเกิน
แต่ถ้าเกินมาก ๆ ไกด์บอกว่ากระเป๋าอาจจะตามมาทีหลัง ซึ่งเป็นกรณีที่เราไม่อยากให้เกิด และไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา
ซึ่งน้ำหนัก 15 กก. ต้องลบน้ำหนักถุงนอน 1.5 กก. และ Duffel Bag อีก 0.95 กก. (ทัวร์เตรียมไว้ให้)
สรุปการ Trekking 11 วัน เหลือน้ำหนักให้เราเตรียมของไปจากไทยแค่ 12.5 กก.
ส่วนของที่จะใช้ในเมือง สามารถจัดเต็มได้ตามน้ำหนักที่เหลือของสายการบินที่เราซื้อตั๋วได้ แล้วก็ฝากไว้ที่โรงแรมในเมืองนั่นแหละ
เสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่ใช้ระหว่างเดิน
ลองจอนเสื้อและกางเกง
เมย์ใช้ Heattech แบบ Extra Wram (ราคา 790 บาท) เพิ่งรู้ว่าเหมาะกับอุณหภูมิ 0 ถึง 10 องศา ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา ต้องใช้รุ่น Ultra Warm
Heattech ช่วยให้อุ่น สามารถระบายอากาศได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเสื้อผ้าที่เราใส่ทับเป็นเลเยอร์ที่ 2-3 ด้วย
เมย์ซื้อลองจอนแบบที่มีขายในออนไลน์ไปด้วย ช่วยให้อุ่นขึ้น แต่หนามาก ไม่ระบายอากาศ กินน้ำหนัก และเปลืองพื้นที่
วันแรก ๆ ถึงจะไม่ได้อาบน้ำ ก็ยังสามารถเช็ดตัว เปลี่ยนไปใส่เสื้อผ้าสำหรับนอนได้ แต่เมื่อขึ้นที่สูง อุณหภูมิเริ่มเหลือเลขตัวเดียว เช็ดแค่หน้า ชุดไม่ถอด ชุดเดินกับชุดนอนอันเดียวกัน
เราไม่สามารถอาบน้ำทุกวันได้ เนื่องจากเสี่ยงต่อการเป็น AMS อาบได้เฉพาะวัน Acclimatization เท่านั้น ทำให้เฉลี่ยแล้ว ได้อาบน้ำทุก 3 วัน เตรียมไปให้พอ ไม่ต้องเผื่อ
กางเกงเดินป่า
กางเกงเดินป่าที่เมย์มี เนื้อผ้าบางมาก เหมาะกับอากาศประเทศไทย ก็เลยซื้อกางเกงเดินป่าที่ Tamel 1 ตัว (ราคา 2,800 รูปี หรือประมาณ 750 บาท)
เนื้อผ้ามีความหนา เย็บทับด้วย ฟลีซบาง เพิ่มความอุ่น อุณหภูมิเลขตัวเดียวก็ยังใส่สบาย ไม่ต้องสวม Heattech ไว้ข้างใน
แต่ถ้าไปช่วงอากาศหนาวติดลบแนะนำให้ซื้อแบบที่เย็บทับด้วย ฟลีซหนา เพิ่มอีกตัว จะช่วยป้องกันลม และรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้มากกว่า
กางเกงเดินป่า พกไปตามจำนวนที่ต้องใช้เปลี่ยนตอนอาบน้ำ หรือจะไม่เปลี่ยนก็ได้นะ ตอนเดินฝุ่นจะเยอะหน่อย ถ้ากางเกงสีดำก็เห็นฝุ่นเกาะเขรอะเลย แต่ตอนนอนจะถอดกางเกงแขวนไว้ ใส่แต่ลองจอน
เสื้อแจ๊กเก็ตผ้าฟลีซ
ผ้าฟลีซ เนื้อนุ่ม ให้ความอบอุ่น และระบายอากาศได้
เมย์ใช้ของ QUECHUA MH120 (ราคา 450 บาท) เนื้อผ้า 200 กรัม/ตรม. เหมาะกับอุณหภูมิ 7 ถึง 10 องศา
ของ QUECHUA มีรุ่น MH500 (ราคา 900 บาท) เนื้อผ้า 240 กรัม/ตรม. ด้วย น่าจะอุ่นกว่า แต่ดีไซน์เป็นแบบสวมหัว ซึ่งเมย์ชอบแบบซิปหน้าทั้งตัว เลยไม่ได้ซื้อรุ่นนี้
ซื้ออีกทีที่ Namche Bazaar เป็นเสื้อฟลีซของ Sherpa Gear (ราคา 3,500 รูปี หรือประมาณ 935 บาท) ไม่แน่ใจเรื่องปริมาณเนื้อผ้า แต่จับแล้วหนากว่า QUECHUA MH120 ก็เลยซื้อมา ใส่แล้วรู้สึกอุ่นขึ้น แล้วก็ระบายอากาศได้ดีขึ้น
เสื้อดาวน์
เสื้อฟลีซกับเสื้อดาวน์ ส่วนใหญ่ใช้เป็นเสื้อเลเยอร์ที่ 2 ต่อจากลองจอน (เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง)
แต่ว่าเสื้อดาวน์ FORCLAZ MT900 (ราคา 2,500 บาท) ที่เมย์ใช้ เคลมว่าเหมาะกับอากาศ -5 ถึง -18 องศา เป็นการเคลมเมื่อใช้เป็นเลเยอร์ที่ 3
ซึ่งจากการที่เมย์เลเยอร์
ชั้นแรก Heattech Extra Warm
ชั้นที่สอง Sherpa Gear Fleece Jacket
แล้วตามด้วยเสื้อดาวน์ Forclaz MT900
พบว่าใช้ได้ตลอดทั้งทริป ไม่ได้รู้สึกอุ่นร้อน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกหนาวสั่น ทั้งที่เป็นคนขี้หนาวมาก ข้อดีอีกอย่างคือ น้ำหนักเบา เก็บได้เล็กมาก
ถ้าหาไม่ได้ แนะนำยี่ห้อ Everest Gear ที่ Namche Bazaar (ราคา 8,500 รูปี หรือประมาณ 2,300 บาท) เป็นแบรนด์ท้องถิ่น เคลมว่าไปได้ถึง -20 องศา พี่ ๆ ที่ซื้อมาใช้ บอกว่าอุ่นจนร้อน แต่ขนาดเค้าจะใหญ่แล้วก็มีน้ำหนักหน่อย
ถุงเท้าเดินป่า
จากที่ได้ลองใช้ถุงเท้าวิ่งแทนถุงเท้าเดินป่า 1-2 ทริปในไทย พบว่าฟีลต่างกันเยอะมาก ถุงเท้าเดินป่าเนื้อผ้าจะหนากว่า โดยเฉพาะช่วงพื้นเท้า สวมคู่กับรองเท้าเดินป่าแล้วมีความกระชับทั้งบริเวณหน้าเท้าและข้อเท้า
ดังนั้น แนะนำให้ใช้ถุงเท้าเดินป่าเป็นหลัก แล้วหาคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มความอุ่นและไม่เก็บกลิ่นเสริม
ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นถุงเท้าที่มีส่วนผสมของ Merino Wool
แต่ทริป EBC เมย์ใช้ถุงเท้าสกีของ WEDZE (ราคา 60 บาท) แทน ใช้ของเด็กด้วย เพราะรุ่นของผู้ใหญ่ไซส์เล็กหมด
ถุงเท้า เตรียมไปเท่าจำนวนกางเกงก็ได้ค่ะ
ถุงเท้ากันหนาว
เนื่องจากเมย์ไม่มีถุงเท้าที่ให้ความอุ่นมาก ๆ ก็เลยซื้อถุงเท้าซับในสำหรับสกี (ราคา 100 บาท) มาใช้เพิ่ม เป็นชั้นฉนวนกันอุณหภูมิ โดยสวมถุงเท้าซับในก่อน แล้วค่อยตามด้วยถุงเท้าเดินป่า
กับถุงเท้าหนาใน Shopee ที่เคลมเรื่องความอุ่น
พอขึ้นที่สูงมาก ๆ ก็ไม่พออยู่ดี คิดว่าหาซื้อถุงเท้าแบรนด์เดินป่า ที่เคลมเรื่องความอุ่นเป็นอุณหภูมิไปเลยดีกว่า แล้วถ้าเคลมเรื่องกลิ่นได้ด้วยก็จะดี จะได้ไม่ต้องพกหลายคู่
รองเท้าเดินป่า
รองเท้าเดินป่าเมย์ใช้ของ QUECHUA NH150 Mid WP (ราคา 1,200 บาท) เป็นรองเท้าเดินป่าคู่แรกของเมย์
จากที่ได้ใช้ต่อเนื่องครึ่งปี รู้สึกชอบ พื้นหนา ยึดเกาะดี เหยียบหินไม่เจ็บ กระชับ และรัดข้อ เมย์ข้อเท้าพลิกง่ายอยู่แล้ว ระหว่างเดินป่าก็พลิกหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับบาดเจ็บเลยซักครั้ง
กันน้ำได้ปานกลาง ถ้าเดินกลางฝนก็ประมาณ 2 ชั่วโมง
อุปกรณ์ที่พกใน Day pack ระหว่างเดิน
เสื้อกันฝน/ลม/หิมะ
เสื้อดาวน์ของเมย์กันน้ำได้เล็กน้อย กรณีฝนตกจะต้องใช้เสื้อกันฝน เสื้อกันฝนแบบที่บ้านเราใช้ปกติก็น่าจะได้
แต่เมย์อยากได้คุณสมบัติกันลมและระบายอากาศด้วย ซึ่งเสื้อกันฝนทั่วไปกันลมได้ แต่ไม่ค่อยระบายอากาศ
สาเหตุที่อยากได้คุณสมบัติกันลม เพราะแรงลมเพิ่มความหนาว ถ้ามีเสื้อกันลม เราก็จะลดความหนาวลงได้บ้าง
พอลดความหนาวได้ บางช่วงเราสามารถใส่แค่ลองจอน + กันลม หรือลองจอน + ฟลีซ + กันลม
ก็จะช่วยลดความหนาของเลเยอร์เสื้อผ้าได้
พอใส่ไปนาน ๆ ถ้าเสื้อผ้าระบายอากาศได้ไม่ดี ร่างกายที่ร้อนจากการเดิน จะมีเหงื่อ ซึ่งไม่ดีในที่อากาศหนาว เพราะจะทำให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลงจนเกิด
- Hypothermia หรือภาวะตัวเย็นเกินไป
- Frostbite คือ เกิดผลึกน้ำแข็งในเซล์เนื้อเยื่อ เกิดการทำลายเซลล์ และอาจส่งผลถึงขั้นเนื้อเยื่อตาย จนต้องตัดทิ้ง
เมย์ได้เสื้อกันฝนของ Black Diamond (ราคา 13,780 รูปี หรือประมาณ 3,675 บาท) ที่ Namche Bazaar คุณสมบัตินอกจากกันลม กันฝน กันหิมะ ก็คือน้ำหนักเบา และระบายอากาศได้ดี
แว่นกันแดด
แว่นกันแดดอันนี้สำคัญมาก เพราะแสงจ้า และลมแรง UV Index 10+
เมย์ใช้ของ QUECHUA MH570 (ราคา 900 บาท) “เลนส์กรองรังสียูวี 100% พร้อมคุณสมบัติของเลนส์ประเภท 4 ที่ช่วยปกป้องสายตาจากแสงจ้า และเทคโนโลยีเลนส์โพลาไรซ์ช่วยให้มองเห็นทัศนียภาพเขตภูเขาได้คมชัดยิ่งขึ้น”
ควรใช้ตั้งแต่การเดินวันแรก ไม่ควรมองหิมะ ด้วยตาเปล่า
เมย์ชะล่าใจ ก็เลยมีปัญหาเรื่องสายตาค่อนข้างเยอะ ทั้งแสบตาจากแสงจ้าและลมแรง รวมถึงมีภาวะคล้ายคนสายตาสั้นด้วย
คือเมย์ทำเลสิกมา สายตาชัดแจ๋ว แต่พอขึ้นที่สูงประมาณ 3,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลแล้วมองระยะไกลไม่ชัด ยิ่งสูงมากเท่าไหร่ ความสามารถในการมองเห็นก็จะลดลง
หนักสุดคือตอนกลับมาจาก Base Camp อ่านป้ายกลางโต๊ะกินข้าวของตัวเองไม่ได้ เบลอไปหมด (สิ้นเดือนนี้มีนัดตรวจสุขภาพตาประจำปี เดี๋ยวมาอัพเดตให้นะคะ)
หมวกกันแดด
เมย์ใช้ หมวกเดินป่าแบบปีกกว้าง (ราคา 700 บาท) อยู่แล้ว ข้อดีของหมวกใบนี้คือกันแดด กันฝน (กันน้ำ) ระบายอากาศ น้ำหนักเบา พับได้เล็ก
หมวกปีกกว้างบางอันช่วงปีกจะแข็ง ทำให้ชนกับเป้ที่เราสะพาย แล้วรู้สึกไม่สะดวก แต่หมวกอันนี้ปีกบาง พับได้ ไม่ขัดกับเป้
หมวกเพิ่มความอุ่น
หมวกเพิ่มความอุ่นของเมย์มีหลายเลเวลมาก
เริ่มจาก หมวกผ้า Merino Wool (ราคา 350 บาท) เป็นผ้าบาง ๆ สวมเป็นชั้นแรก แล้วตามด้วยอะไรก็ได้ ถ้าไม่หนาวมากทับด้วยหมวกกันแดดก็ได้ ชอบที่เค้าปิดสนิท ทั้งหูและหัว สิ่งที่ไม่ชอบคือความคัน
เลเวลถัดมา คือ หมวกไหมพรม ซื้อจากตลาดอมก๋อย จำราคาไม่ได้ แต่เห็นหมวกไหมพรมของไกด์ท้องถิ่น หน้าตาใกล้เคียงกันเลย
ถ้าลมแรงมากจะคลุมด้วยฮู้ดของเสื้อดาวน์
แต่ถ้าใส่ 3 ชั้นแล้ว ยังเอาไม่อยู่ เมย์มีหมวกขนสัตว์ที่มาพร้อมกับผ้าปิดปาก (ราคา 2,500 รูปี หรือประมาณ 667 บาท) ซื้อจาก Namche Bazaar
ผ้าบัฟ
ผ้าบัฟสำหรับเมย์ คือไอเท็มกันหนาวบริเวณช่วงคอและปาก รวมถึงช่วยกันฝุ่นได้ด้วย (จริง ๆ ใช้ได้หลายวิธีมากกว่านี้)
เมย์พกไปทั้งหมด 3 ผืน 3 ความหนา
มีทั้งแบบผ้าธรรมดา ผ้าผสมระหว่างธรรมดากับผ้าฟรีซ และแบบผ้าฟรีซ (ซื้อจาก Decathlon หมดเลย แต่หาราคาไม่เจอ)
ซึ่งอย่างหลังได้ใช้บ่อยที่สุดเนื่องจากให้ความอุ่นได้ดี ไม่ยาวหรือรัดจนอึดอัด
ถ้าไปอีกจะพกแบบผ้าฟรีซไป 2-3 ผืน
ถุงมือกันหนาว
ตัวอุ่นแล้ว แต่ถ้ามือเย็น ความรู้สึกก็จะเย็น ถุงมือจึงเป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่สำคัญ
แนะนำให้มีถุงมือ 2 แบบ คือถุงมือแบบบาง (ราคา 390 บาท) ที่เหมาะกับอากาศประมาณ 5 องศา กับถุงมือที่เหมาะกับอากาศติดลบ แบบ -10 ถึง -15 ไปเลย
ถุงมือผ้าฟลีซ (ราคา 150 บาท) ก็น่าสนใจ แต่ไม่มีไซส์เล็กอ่ะ เซ็ง
กางเกงกันฝน
มีเสื้อกันฝนแล้ว ก็ต้องมีกางเกงกันฝน
ถ้ากางเกงเดินป่าเราไม่กันน้ำ สามารถซื้อกางเกงกันฝน (ราคา 450 บาท) แยกได้
พกไว้ในเป้ตลอด แต่ฝนตกไม่หนัก ยังไม่ได้ใช้
ได้ใช้ตอนจะกลับเข้าเมืองแล้วกางเกงไม่พอ แต่ไม่อยากซื้อกางเกงใหม่แล้ว
อุปกรณ์กรองน้ำ
ตลอดเส้นทางของรูท EBC มีน้ำดื่มขาย ราคาลิตรละ 100-500 รูปี (26-134 บาท) ขึ้นอยู่กับระดับความสูง
เราต้องดื่มวันละประมาณ 3-4 ลิตร จะเตรียมเงินไปซื้อก็ได้ หรืออีกทางเลือกนึงก็คือพกอุปกรณ์กรองน้ำไปกรองน้ำประปามาใช้ดื่ม
เมย์ใช้ขวดน้ำแบบนิ่ม ขนาด 1 ลิตร (ราคา 450 บาท) + ไส้กรองของ MT500 (ราคา 500 บาท) ของ Decathlon
ใช่ง่าย แค่เติมน้ำใส่ขวด ใส่ไส้กรองและปิดฝา ก็สามารถดื่มน้ำจากขวดได้เลย หรือจะบีบใส่เป้น้ำไว้ก็ได้ ค่อย ๆ พับก้นขวดไล่อากาศมาทางฝา
สิ่งที่ไม่ชอบคือ ขวดมันนิ่มมาก บางทีก็ตั้งไม่อยู่ และขวดด้านนอกเปื้อนฝุ่นง่าย
ถุงน้ำ
มีหรือไม่มีก็ได้ แต่ส่วนตัวเมย์ลองใช้แล้วชอบ รู้สึกสะดวก ไม่ต้องชะลอ ไม่ต้องถอดเป้ ไม่เสียเวลาเลย
หิวน้ำก็หยิบสายยางมาดูด จบ.
เมย์ใช้ ถุงน้ำขนาด 2 ลิตร (ราคา 400 บาท) ใช้ดื่มได้ประมาณครึ่งวัน เติมอีกทีช่วงแวะกินมื้อเที่ยง
เมย์เทเกลือแร่ผสมน้ำไปเลย
ขวดน้ำเก็บอุณหภูมิ
รายการนี้เป็นสิ่งที่มีคนแนะนำว่าจำเป็น แต่เมย์ไม่ได้พกไปจากไทย สุดท้าย ต้องรีบหาซื้อตั้งแต่วันแรกก่อนเริ่มเดิน เพราะอากาศหนาวมาก การจิบน้ำอุ่นช่วยชีวิต (จำราคาเป๊ะ ๆ ไม่ได้ แต่คิดน่าจะไม่เกิน 1,000 รูปี หรือประมาณ 267 บาท)
แนะนำให้เลือกขวดที่เก็บรักษาอุณหภูมิได้นาน ๆ เพราะยิ่งขึ้นที่สูง อุณหภูมิติดลบเยอะ น้ำเย็นไว
ช่วง 4-5,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตื่นเช้ามาน้ำในขวดของเมย์ก็เย็นแล้ว ใช้เช็ดหน้ายังไม่ได้เลย (แต่ของพี่พริ้วยังอุ่นมาก ดังนั้น เลือกซื้อดี ๆ ไปเลย)
ไฟคาดหัว
ไอเท็มจำเป็นในการเดินป่า ควรพกติดตัวเผื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น เดินถึงที่พักหลังพระอาทิตย์ตก ทางเดินมืด หรือไฟดับ
แพลนการเดินทางของรูทเรา ออกจากที่พักประมาณ 7-8 โมงเช้า ต่อให้ใช้เวลาเดิน 10 ชั่วโมง ก็ถึงที่พักก่อนพระอาทิตย์ตก
ซึ่งตามตารางแล้ว เดินวันละไม่เกิน 6 ชั่วโมง เดินเยอะสุดคือวันที่ไป Base Camp ตอนกลับก็คือจ้ำ สุดท้ายก็ถึงที่พักก่อนแสงสุดท้ายจะหายไป
ได้ใช้จริง ตอนที่พักไฟดับ ปิดไฟเร็ว หรือออกไปเข้าห้องน้ำกลางดึกแล้วโถงทางเดินไม่ค่อยมีไฟ
อย่างไรก็ตาม ควรพกไฟฉายติดกระเป๋าไว้เสมอ เพราะตอนที่เมย์ไปมีบางคณะเดินหลงทาง กลับถึงที่พักหลังพระอาทิตย์ตก
จำเป็นมาก ๆ
ถุงขยะ
เมย์ติดพกถุงขยะ เป็นถุงเล็ก ๆ ทำความสะอาด ใช้ซ้ำได้
เอาไว้ใส่ทิชชู่เปียกเวลาแวะเข้าห้องน้ำกลางป่า เนื่องจากทิชชู่เปียกมีส่วนผสมของพลาสติกย่อยสลายไม่ค่อยได้ ไม่ควรทิ้งไว้ตามธรรมชาติข้างทาง ทิชชู่กระดาษ เมย์ก็เก็บใส่ถุงขยะ แล้วก็ใช้เก็บซองขนมที่กินแล้วหรือขยะที่เกิดจากเรา
เก็บไว้ทิ้งเมื่อถึงที่พัก
ที่วัดอุณหภูมิ
ตอนเดินป่าไทย อุณหภูมิค่อนข้างแม่น แต่พอพกไป EBC ไม่ค่อยอยากดูแล้ว เนื่องจากลมแรง อากาศหนาวเกินตัวเลขไปแล้ว
Energy Bar
เมย์กินอาหารได้ทุกมื้อ และน้อยมากที่จะไม่เอนจอย
แต่เมื่อขึ้นที่สูงมาก ๆ หรือวันไหนเหนื่อยมาก จะกินได้น้อยลง
วันหลัง ๆ เริ่มกินมาม่า หนักสุดคือกินซุปไข่ โปรตีนและพลังงานแทบไม่มี แต่ก็สั่งมากิน เพื่อเช็คว่าตัวเองกินได้ไหม
วันไหนที่กินเมนูพลังงานน้อย หรือรู้สึกพลังงานเริ่มไม่พอ เมย์จะกิน Energy Bar ของ Carman’s รส Dark Chocolate & Salted Caramel (1 กล่อง 5 แท่ง ราคา 299 บาท)
1 แท่ง ให้พลังงาน 700+ kcal โปรตีน 10 กรัม
กิน 2-3 คำก็มีพลังงานเดินต่อแล้ว
Energy Gel
Energy Bar จะใช้เวลาในการโหลด ถ้ากินแล้วต้องการพลังงานทันที เมย์จะกิน Energy Gel
ยี่ห้อ Dever รสโคล่า กินง่ายมาก อร่อย เหมือนกินเยลลี่หวาน ๆ
เมย์ซื้อแบบซอง 100 ml. (ราคา 80 บาท) ไป ข้อดีคือมีฝาปิด แบ่งกินแล้วเก็บไว้ได้
กล้อง
ตลอดทั้งทริปเมย์ใช้ DJI Action Cam 3 ในการเก็บภาพวิดีโอ (เมมโมรี่การ์ด 256GB 1 ใบ) และใช้ iPhone ในการถ่ายรูป Snap นู่นนี่นั่นเล็กน้อย
แค่ 2 ไอเท็มนี้เพียงพอแล้วสำหรับเมย์
Trekking Pole
เมย์ใช้ไม้เท้าเดินป่าน้อยมาก ถนัดเดินแบบไม่มีไม้มากกว่า
แต่เส้นทางจาก Gorakshep ไป Base Camp ทางเดินมีแต่ก้อนหิน และหินก้อนใหญ่มาก ไกด์แนะนำให้ใช้ไม้เท้า ซึ่งก็ดีที่ตัดสินใจพกไป ช่วยให้เดินง่ายขึ้นเยอะ
ถุงยา และ ผ้าห่มฉุกเฉิน
ขอสารภาพว่า พกยาแค่ 2-3 วันแรก หลังจากนั้นโยนใส่ Duffle เพื่อลดน้ำหนัก โชคดีที่ไม่มีเหตุฉุกเฉินกลางทางให้ต้องรีบใช้ยา
ยาที่เมย์พกไป
- Diamox กินทุกวัน วันละครึ่งเม็ด ตั้งแต่มื้อเช้าที่ Namche Bazaar จนถึงวันเดินลง Periche
- Air-x กินบ้าง เมื่อท้องอืด
- พาราเซตามอล และ Ibrofen บังเอิญมากที่พกไปทั้ง 2 ตัว เพราะตอนที่ไม่สบาย หมอสั่งให้กิน 2 ตัวนี้สลับกันทุก 3 ชั่วโมง
- ยาแก้เมารถ กินก่อนนั่งรถตู้จาก Tamel ไปสนามบิน Ramechhap เส้นทางโหดมาก กินแล้วหลับ ๆ ไปซะ
- ยาหยอดตา อยู่ข้างบนตาแห้งมาก แสบตา ได้ใช้
- ผงเกลือล้างจมูก พร้อมขวดบีบ ได้ใช้แทบทุกวัน เพราะฝุ่นเยอะมาก ทั้งในเมืองและบนเขา
- ยาพ่นจมูก ใช้หลังล้างจมูกเสร็จ
- ผ้าอนามัย
- ยาแก้แพ้ (แบบกินและแบบทา) / ไม่ได้ใช้
- ผ้าห่มฉุกเฉิน / ไม่ได้ใช้
- เบตาดีนและพลาสเตอร์ยา / ไม่ได้ใช้
- ยาแก้คลื่นไส้ / ไม่ได้ใช้เพราะกินยาแก้เมารถดักไปละ
- สายให้ออกซิเจนทางจมูก / ไม่ได้ใช้ ขนาดเพื่อนที่ออกซิเจนในเลือดเหลือ 50% เค้ายังไม่ให้ออกซิเจนเลย
รายการที่ไม่ได้ใช้ แค่ไม่มีจังหวะต้องใช้ แต่จำเป็นนะ
Duffle Bag ฝากลูกหาบ
Duffle Bag ที่ทัวร์เตรียมไว้ให้ ขนาด 70 ลิตร หนักประมาณ 1 กก.
อย่าคาดหวังว่าเราจะสามารถขอแกะของใน Duffle Bag ระหว่างทางได้ เพราะลูกหาบออกเดินทางก่อน และเดินเร็วมาก
ดังนั้น เราจะได้เจอสิ่งของใน Duffle Bag อีกทีเมื่อถึงที่พัก และต้องเก็บแพ็คให้เรียบร้อยทุกเช้าก่อนกินข้าว
ถุงนอน
ทัวร์เตรียมถุงนอน -20 องศาไว้ให้ ใหญ่ และหนัก (1.5 กก.)
เสื้อผ้าที่สำรองไว้เปลี่ยน
- Heattech ทั้งเสื้อและกางเกง
- กางเกงเดินป่า
- เสื้อชั้นใน
- ถุงเท้าเดินป่า
เมย์อาบน้ำเฉลี่ย 3 วันครั้ง Trekking 11 วัน ก็พกสำรองเปลี่ยน อย่างละ 3 ชุด
อย่าลืมเตรียมเสื้อผ้าสบาย ๆ สำหรับใส่วันสุดท้าย ก่อนบินกลับเข้าเมืองไปด้วย
ชุดชั้นใน
รายการนี้พกไปสำหรับเปลี่ยนทุกวันได้เลย
ซับในถุงนอน
เมย์พกซับในถุงนอน (ราคา 250 บาท) ไปใช้ด้วย เป็นการเซฟเรื่องความสะอาด แล้วก็ช่วยเพิ่มความอุ่น
แต่หลัง ๆ ตัวสกปรกมาก แถมยังนอนดิ้นจนซับในพันตัว หรือเวลาไปเข้าห้องน้ำกลางดึกแล้วกลับมาจะรีบเข้าถุงนอน ก็ต้องหาทางเข้าซับในก่อน หนาวววว วันหลัง ๆ เลิกใช้
แต่ก็จะพกไปอยู่ดีนะ
อุปกรณ์อาบน้ำ
(เซ็ตแปรงฟัน)
- ไหมขัดฟัน
- แปรงสีฟัน
- ยาสีฟัน
- แก้วน้ำเทรล แบบพับได้ ใช้ผสมน้ำแปรงฟัน น้ำก็อกเย็นเกิน เอามือรองไม่ไหว
(เซ็ตอาบน้ำ : ตามจำนวนวันที่จะใช้ ไม่ต้องพกเผื่อเยอะ หนัก)
- เจลล้างหน้า
- ครีมอาบน้ำ
- กันแดดทาตัว
- ครีมระงับกลิ่นเหงื่อ
- ผ้าขนหนู
(เซ็ตสระผม : เก็บไว้ใช้ในเมือง เพราะผมยาว กว่าจะแห้ง ลำบาก)
Warmer
อันนี้สำคัญมากกกกกกกกกกกก แนะนำให้พกไปเยอะ ๆ
เมย์ขยี้แล้วโยนใส่ถุงนอนทุกคืน นอนทับไปเลย เพราะยิ่งเราขยับ เค้าจะยิ่งอุ่น
วันที่หนาวมาก ๆ เมย์ขยี้ใส่ในเสื้อกันหนาว กับถุงมือ ช่วยเพิ่มความอุ่นระหว่างเดินด้วย
แนะนำให้ซื้อจากไทย เมย์ใช้ Warmer ของ Decathlon (เฉลี่ยชิ้นละ 15 บาท) ห่อเล็ก ร้อน ใช้ได้นาน แต่วันที่สูงมาก ๆ หนาวมาก ๆ ความร้อนอาจจะหมดไว ซื้อไปเผื่อได้เลย
เพราะข้างบนแพง เคยซื้อที่ Dingboche ชิ้นละ 500 รูปี หรือประมาณ 134 บาท
Charger
นอกจาก iPhone และ DJI เมย์พก Apple Watch ไปด้วย ก็เลยพกสายชาร์จไปแค่ 2 เส้น
คือ สายชาร์จอเนกประสงค์ มีหัวทุกแบบ กับสายชาร์จ Apple Watch
พาวเวอร์แบงค์
เมย์พกพาวเวอร์แบงค์ขนาด 30,000 mAh ไป 2 ก้อน
ที่พักบางแห่ง มีปลั๊กให้ชาร์จในห้องนอน บางแห่งให้ชาร์จฟรีที่ส่วนกลาง ที่ไหนมีเราก็ชาร์จพลังงานเก็บไว้ ที่ไหนไม่มีก็ใช้พาวเวอร์แบงค์ไป
เพียงพอต่อการใช้งาน ไม่ได้เสียเงินค่าชาร์จพาวเวอร์แบงค์ซักครั้งเดียว
สเบียงพลังงาน
พกไปให้เพียงพอสำหรับทุกวัน แล้วค่อยเติมจาก Duffle เข้า Day Pack ทีละวัน
- Energy Bar
- Energy Gel
- Energy Drink ผสมเกลือแร่ แบบผงชงดื่ม
Whey Protein
เมย์กล้ามเนื้อน้อย แต่ละวันต้องเดินเยอะ กลัวกล้ามเนื้อหาย ก็เลยพกโปรตีนไปกิน วันละ 1 สกูป
ดีที่พกไป เพราะบนที่สูงเนื้อสัตว์มีให้เลือกน้อย แถมยิ่งสูง กินได้แต่ซุป ไม่ค่อยมีโปรตีน
ข้อดีอีกอย่างนึง คือ การกินโปรตีนให้ถึง ช่วยซ่อมแซมและเสริมสร้างกล้ามเนื้อไปในตัว
ทำให้ตลอดทริปการเดินทาง ปวดขา ปวดตัวน้อยมาก จบทริปแล้วไม่มีอาการบาดเจ็บหรือปวดตัวใดใด แทบไม่ต้อง Recovery กล้ามเนื้อเลย
อย่าลืมพกแก้วเชคไปด้วย
เครื่องปรุงรส
กลัวกินอาหารเนปาลไม่ได้ จะพกอาหารสำเร็จรูปไป แต่ปรากฎว่าน้ำหนักไม่พอ เลยได้แต่พก แม็กกี้ขวดเล็ก นมขนหวานแบบหลอด และแยมแบบหลอด
แม็กกี้ได้กินกับเมนูไข่ตอนเช้า นอกนั้นไม่ได้แตะ เพราะอาหารถูกปากมาก
สิ่งที่อยากพกเพิ่ม คือ ผงมาม่า เฉพาะผงนะ เอาไว้ชงกับน้ำร้อน กินเป็นซุปก็ได้ ช่วยให้หายคิดถึงอาหารไทยได้บ้าง
ตามร้านอาหาร มีมาม่าเกาหลี สั่งได้ บางร้านมีไวไว รสชาติคือซองน้ำเงินแดงที่เราชอบขยำกินอ่ะ แต่ถ้าไม่ชอบก็บอกร้านไม่ต้องใส่ผง เพราะเราพกมาเอง
เจอปลากระป๋องโรซ่าในร้านขายของชำระหว่างทาง เดอะเบสมาก แนะนำให้ซื้อ
สิ่งที่ไม่แนะนำให้ซื้อหรือพกไป คือ โจ๊กสำเร็จรูป เมย์ผสมตอนอยู่ Dingboche (4,000+ เมตรจากระดับน้ำทะเล) ผสมเท่าไหร่ก็ยังเป็นผงอยู่
กระเป๋าเป้วันเบา ๆ
ปกติเดินป่าไทย เมย์จะใช้ เป้เทรล แทน Day Pack แต่ทริปนี้ กลัวเป้เทรลใส่เสื้ออุปกรณ์กันหนาวไม่พอ (เตรียมไปเผื่อเยอะเกิน) จึงตัดสินใจใช้ Backpack
ทำให้อยากได้กระเป๋าเบา ๆ สำหรับวัน Acclimatization ที่ต้องเดินระยะไม่ไกลมาก ก็เลยถอยใบเล็กที่ Namche Bazaar ราคา 5,500 รูปี หรือประมาณ 1,467 บาท
สรุปรายการ
(เสื้อผ้าใส่เดิน)
- เสื้อและกางเกงลองจอน
- กางเกงเดินป่า แบบหนา
- Fleece Jacket x1
- Down Jacket x1
- ถุงเท้าเดินป่า x1
- รองเท้าเดินป่า กันน้ำได้ x1
(ของในเป้ Day Pack)
- เสื้อกันฝน/ลม/หิมะ x1
- แว่นกันแดด x1
- หมวกกันแดด x1
- หมวกกันหนาว มีกี่แบบ ใส่ Day Pack ไว้ให้หมด
- ผ้าบัฟ x1
- ถุงมือกันหนาวแบบบางสำหรับอากาศ 0 ถึง 15 องศา x1
- ถุงมือกันหนาวสำหรับอากาศติดลบ x1
- กางเกงกันฝน (กรณีกางเกงเดินป่าไม่กันน้ำ) x1
- อุปกรณ์กรองน้ำ x1
- ถุงน้ำ x1
- ขวดน้ำเก็บอุณหภูมิ x1
- ไฟคาดหัว x1
- ถุงขยะ x1
- อาหารที่ให้พลังงาน : Energy Bar และ Energy Gel สำหรับ 1 วัน
- กล้อง
- Trekking Pole x1 คู่
- ถุงยา
(ของใน Duffle Bag)
- ถุงนอน
- เสื้อและกางเกงลองจอน (คำนวณวันอาบน้ำ หรือหาร 3 = จำนวน)
- กางเกงเดินป่า (คำนวณวันอาบน้ำ หรือหาร 3 = จำนวน)
- ถุงเท้าเดินป่า (คำนวณวันอาบน้ำ หรือหาร 3 = จำนวน)
- ผ้าบัฟ (คำนวณวันอาบน้ำ หรือหาร 3 = จำนวน)
- ชุดชั้นใน xจำนวนวัน
- ซับในถุงนอน x1
- อุปกรณ์อาบน้ำ
- รองเท้าแตะ x1
- Warmer จำนวนวัน x3 ได้เลย
- Charger
- Power Bank 30,000 mAh x2
- กระเป๋าเป้สำหรับเดินเล่นในเมือง x1
- สเบียงพลังงาน
- Energy Gel สำหรับทุกวัน
- เกลือแร่ หรือ Energy Drink สำหรับทุกวัน
- Whey Protein สำหรับทุกวัน + พกแก้วเชคไปด้วย
- Energy Bar วันเดิน/2 = จำนวน
แนะนำเพิ่มเติม
- แยกของกิน และของเหลวใส่ถุงซิปล็อค รายกลุ่ม/รายชิ้น ป้องกันแพคเกจจิ้งเสียหาย แล้วเลอะของในกระเป๋า
- ใส่เสื้อผ้าในถุงกันน้ำ ก่อนใส่ในกระเป๋า เมย์ใช้ถุงสุญญากาศกันน้ำ (ราคา 350 บาท) มีขายที่ Decathlon พกไปเผื่ออีก 1 ใบ สำหรับเก็บถุงนอนทุกเช้าได้นะ จะได้ไม่ต้องยัดจนเมื่อยมือ
- ถ้ายังไม่มีเสื้อผ้าที่ช่วยให้ความอุ่นเพียงพอ แนะนำให้ซื้อที่ Tamel อย่างละ 1 ตัว ให้สามารถเดินไปถึง Namche Bazaar ได้ แล้วค่อยซื้อเพิ่ม (น้ำหนักตอนบินไป Lukla จะได้ไม่เกิน)
- Namche Bazaar เป็นเมืองใหญ่ มีสินค้าทั้งแบรนด์แท้ แบรนด์ Local และของเกรด A ที่ใช้ได้จริง ราคาไม่โดดจากไทย หรือที่ Tamel มาก
- ถ้ามีเวลา แนะนำให้เดินดูหลาย ๆ ร้านก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากราคาแต่ละชิ้น แต่ละร้านไม่เท่ากัน
อันนี้คือเท่าที่จำได้ ถ้านึกอะไรออก เดี๋ยวมาเติมให้อีกนะคะ