7 ขั้นตอน การทำ SEO ให้บทความติด Google หน้าแรก

7 ขั้นตอน การทำ SEO ให้บทความติด Google หน้าแรก

บางคนอาจจะกำลังเจอปัญหา เขียนเนื้อหาได้ดี แถมยังเขียนได้เร็ว เข้าถึงประเด็นได้ไวกว่าคนอื่น แต่ค้นหาบน Google แล้วไม่เจอ ยอดวิวไม่ขึ้น และที่สำคัญกว่ายอดผู้เข้าชมคือ ข้อมูลที่เราต้องการสื่อ เดินทางไปไม่ถึงผู้รับ

ทำไมต้องทำ SEO

จากข้อมูลพฤติกรรมการใช้งาน Google Search ผู้ค้นหามักจะกดอ่านแค่การแสดงผลหน้าแรก และ SEO คือสิ่งที่จะช่วยให้บทความของเราแสดงผลการค้นหาใน Google หน้าแรก

SEO ไม่ได้ดีต่อ Google แค่ฝ่ายเดียว แต่ยังดีต่อผู้อ่านด้วย เนื่องจากสิ่งที่ Google เลือกสรรมาให้กับผู้ค้นหา คือสิ่งที่ตอบโจทย์เขามากที่สุด ดังนั้น การทำ SEO ไม่ได้ช่วยให้ติดแค่ Google แต่ยังทำให้ผู้อ่านติดใจเว็บไซต์ของเราด้วย

บล็อกนี้เมย์จะมาแชร์ประสบการณ์ 7 ขั้นตอน การทำ SEO ให้บทความติด Google หน้าแรก โดยอ้างอิง Plugin Yoast SEO บน WordPress เป็นหลักนะคะ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ชอบเขียนงานบนเว็บไซต์เหมือนกัน

1. ชื่อบทความน่าสนใจ + Keyword

เริ่มต้นจากการโฟกัส Keyword หรือเรื่องที่จะเล่าก่อน จากนั้นตั้งชื่อบทความในน่าสนใจ น่าคลิกเข้ามาอ่าน และที่สำคัญอย่าลืมใส่ Keyword เข้าไปในชื่อบทความด้วย

ตัวอย่าง แทนที่จะเขียนชื่อบทความว่า ‘วิธีการเขียนบทความ’ หรือ ‘เคล็ดลับการเขียน’ ก็เพิ่มคีย์เวิร์ดที่มีคนค้นหาเข้าไปด้วย เช่น คีย์เวิร์ด การทำ SEO ก็เขียนว่า ‘7 ขั้นตอน การทำ SEO ให้บทความติด Google หน้าแรก’ เป็นต้น

2. URL + Keyword

หลังจากตั้งชื่อบทความเสร็จแล้ว ใส่คีย์เวิร์ดเป็นภาษาอังกฤษลงไปใน URL ด้วย หรือจะเขียน URL เป็นประโยคภาษาอังกฤษไปเลยก็ได้

ตัวอย่าง แทนที่จะปล่อยให้ URL เป็น .com/123 ก็เพิ่มใหม่เป็น .com/seo หรือ .com/seo-tutorials หรือ .com/7-simple-guide-seo เป็นต้น ( ** แต่ URL ยิ่งสั้นยิ่งดี)

3. เพิ่ม Keyword ในย่อหน้าแรก

Plugin Yoast SEO ชอบให้มีคีย์เวิร์ดในย่อหน้าแรก ก็ลองเรียบเรียงดูค่ะ ทำยังไงก็ได้ให้ใส่คีย์เวิร์ดเข้าไปได้ แต่ต้องดูเป็นธรรมชาตินะ อย่าทื่อจนคนอ่านรู้สึกกำลังถูกยัดเยียด

วิธีง่าย ๆ ที่เมย์ใช้เพิ่มคีย์เวิร์ดในย่อหน้าแรก คือการใช้ชื่อบทความมาเป็นย่อหน้าแรกค่ะ เพราะว่าชื่อบทความมีคีย์เวิร์ดอยู่แล้ว สะดวกดี ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นธรรมชาติหรือเปล่าด้วย

แต่วิธีการใส่หัวข้อซ้ำ ต้องดู Layout ของหน้าเว็บเราด้วยนะคะ เพราะถ้าชื่อบทความอยู่ใกล้กับส่วนเนื้อหา วิธีนี้อาจจะไม่ค่อยเหมาะ แต่อย่างหน้าเว็บของเมย์ ใต้ชื่อบทความจะคั่นด้วยภาพปกก่อนแล้วค่อยเป็นส่วนเนื้อหา แบบนี้เมย์ว่าโอเค เป็นการเน้นย้ำให้คนอ่านรู้อีกครั้งด้วยว่ากำลังจะอ่านเรื่องอะไร

4. ใส่หัวข้อ

หลายคนชอบเขียนเนื้อหายาวติดกันหลายบรรทัด บางคนก็เขียนยาวมาก ๆ จนเรียงกันเป็นย่อหน้าใหญ่ ๆ เหมือนในหนังสือ ย่อหน้าแบบนั้น เหมาะสำหรับการจัดวางในหนังสือค่ะ

ในหน้าเว็บไซต์ เราควรเขียนเนื้อหายาวต่อเนื่องกันไม่เกิน 3-5 บรรทัด หรือถ้าจะให้เข้าใจง่ายเขียน 1 ใจความ เคาะปุ่ม Enter ซักทีก็ดีนะคะ เพราะถ้าเข้าดูจากมือถือแค่ 5 บรรทัดก็จะกลายเป็นเกือบ 10 บรรทัดเลยค่ะ

นอกจากการเคาะ Enter ที่จะช่วยให้อ่านเนื้อหาได้สบายตาแล้ว การใส่หัวข้อหรือ Headline คั่น ก็สามารถช่วยให้เนื้อหาของเราอ่านได้ง่าย และน่าอ่านมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญคือ การใส่หัวข้อหรือ Headline ดีต่อ SEO แต่ถ้าจะให้ดี ควรเริ่มใช้ตั้งแต่ Headline 2 เป็นต้นไป เพราะ Headline 1 คือชื่อบทความ

5. เตรียมรูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบบทความ ภาพปกใช้ขนาด 1200 x 628 ไปเลยก็ได้ เพราะเป็นขนาดเดียวกับที่แสดงผลตอนแชร์บท Facebook

นอกนั้นก็ปรับแต่งให้สวยงาม หลังจากที่จัดแต่งภาพเสร็จ อย่าลืมใส่คีย์เวิร์ดเข้าไปในไฟล์ภาพ เช่น seo-001.jpg เป็นต้น

ทุกครั้งที่แทรกภาพประกอบเข้าไปในบทความ ในมุมมองที่เป็นคนอ่าน เมย์ชอบให้ภาพกับเนื้อหาแยกบรรทัดกัน เพราะบนจอคอมอาจจะสวย แต่บนมือถือข้อความข้างภาพจะโดนเบียดเหลือเป็นเส้น ๆ คำ ๆ ไม่สวย


อันที่จริงแค่ 5 ข้อนี้ก็ช่วยให้บทความของเราติดหน้าแรก Google ได้แล้วนะ ยิ่งถ้าเป็นประเด็นใหม่ โพสก่อนใคร และมีช่องทาง Social Media ที่ช่วยกระจายบทความได้ ก็จะได้ Rank ที่สูงขึ้นค่ะ


6. ปรับแต่งตาม Yoast

ถ้าใครอยากให้คีย์เวิร์ดขึ้นไฟเขียว ก็ต้องปรับแต่งบทความตามคำแนะนำของ Yoast ด้วย โดยเริ่มจากใส่คีย์เวิร์ดลงไปในช่อง Focus Keyword ค่ะ แล้วเราจะเห็นว่าต้องปรับแต่งอะไรเพิ่มบ้าง ในคำแนะนำที่ได้สีเหลืองและสีแดงให้กลายเป็นสีเขียว

– ใส่คีย์เวิร์ดในย่อหน้าแรก

– เขียนข้อความอธิบายบทความ โดยคลิกเข้าไปที่ Edit Snippet แล้วเขียนในช่อง Meta Description เขียนให้ได้สีเขียวนะคะ เสร็จแล้วคัดลอกไปใช้ในเกริ่นนำของหน้าเว็บไซต์ด้วยก็ได้ (Meta Description เกริ่นนำบน Google – Except เกริ่นนำบนหน้าเว็บ)

– ใส่ลิ้งค์เชื่อมโยง ทั้งในเว็บของตัวเอง คือ เชื่อมกับบทความอื่น ๆ ของเรา และนอกเว็บ คือเชื่อมไปหาเว็บไซต์อื่น ๆ

– ระวังคีย์เวิร์ด อย่าให้เกิน 2.5% ของเนื้อหา

– และเนื้อหา ถ้าอยากให้ขึ้นไฟเขียว ควรเขียนให้เยอะ มากกว่า 300 คำ

– เขียนข้อความ Alt ในภาพก่อนแทรกประกอบบทความด้วย ถ้าไม่รู้จะเขียนอะไรก็เขียน “คีย์เวิร์ด” ลงไปค่ะ

– เพิ่มคีย์เวิร์ดลงไปใน URL

– ใช้ Headline และ SubHeadline

– มีคีย์เวิร์ดในชื่อบทความ และชื่อบทความต้องมีความยาวที่พอเหมาะ เช็คได้จาก SEO Title

– มีคีย์เวิร์ดใน Meta Description

– คีย์เวิร์ดที่เรา Focus เป็นคีย์เวิร์ดใหม่ ไม่เคยใช้ในบทความอื่น ๆ

ลิสต์รายการไม่จำเป็นต้องเขียวหมดทุกข้อก็ได้นะคะ ขอให้ Keyword ขึ้นสีเขียวก็พอ (Readability แค่เพิ่มหัวข้อ 1 อันก็ขึ้นไฟเขียวแล้ว)

7. ใช้การ Coding เข้ามาช่วย

ถ้าทำครบทั้งหมดแล้ว ก็ทำใจให้สบาย ที่เหลือเป็นหน้าที่ของ Marketing ว่าจะยิง Content ไปได้ไกลแค่ไหน และเป็นหน้าที่ของ Programmer ที่จะปรับโค้ดและปรับหน้าเว็บให้รองรับการใช้งานถูกใจผู้อ่านและ Google ค่ะ

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับคนที่ชอบเขียนบทความบนเว็บไซต์เหมือนกันนะคะ ใครมีเคล็ดลับอื่น ๆ แนะนำกันได้นะคะ เพราะเรื่องออนไลน์เรียนรู้กันได้ไม่รู้จบ และเมย์เองก็กำลังเรียนรู้เพื่อต่อยอดการเขียนเพิ่มเติมเช่นกันค่ะ

สนใจเรื่องผิว สกินแคร์ การเงิน การเดินทาง การใช้ชีวิต และการจดบันทึก